Aukrit Unahalekhaka doing some hands-on work at a farm in Phra Putthabat
อุกฤษ อุณหเลขกะ นักธุรกิจรุ่นใหม่วัย 32 ปี CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult กิจการเพื่อสังคมเจ้าของรางวัลมากมาย ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยให้พ้นจากความยากจน เขาพูดถึงความยั่งยืนและเทคโนโลยีด้วยหน้าตายิ้มแย้มและเต็มไปด้วยพลังบวก อุกฤษจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จาก University of Illinois ปริญญาโทสาขาการวิจัยและวิศวกรรมข้อมูล จาก Cornell และสาขาวิศวกรรมระบบและการจัดการ จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT)
เขาเกิดมาในครอบครัวที่ให้ความสนใจด้านการเกษตร เขาเริ่มคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยในการทำการเกษตรแบบยั่งยืนในช่วงที่เขาสมัครเข้าเรียนที่ MIT “ผมเสนอการใช้ดาวเทียมเพื่อช่วยเกษตรกรในกระบวนการตกผลึก ซึ่งผมได้เขียนในบทความเพื่อเสนอเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาโทที่นั่น ผมต้องการก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี กล่าวง่าย ๆ คือ สิ่งที่ Ricult ทำ คือการใช้ดาวเทียมร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศ การเรียนรู้ของเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอยากจะปลูก เวลาปลูกและวิธีการปลูก เป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาผลผลิตโดยไม่ทำลายผืนดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก” เขาอธิบาย
The former director of the Chulalongkorn University Innovation Hub occasionally teaches at its School of Integrated Innovation as well
อุกฤษอธิบายเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจว่าจะเริ่มปลูกข้าวเมื่อใดนั้นมีความสำคัญต่อชาวนาอย่างมาก “ช่วงเวลาที่ต่างกันในแต่ละปีส่งผลต่อคุณภาพและจำนวนผลผลิตของข้าวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณแสงแดดและปริมาณน้ำฝนที่ได้รับที่แตกต่างกัน ดังนั้นแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มของเราจะให้ข้อมูลแก่เกษตรกร ซึ่งไม่เพียงแสดงเวลาที่ดีที่สุดในการปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเวลาใส่ปุ๋ยและเวลาเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จสูงสุด” เทคโนโลยีดาวเทียมของ Ricult สามารถตรวจจับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกโดย AI อัลกอริทึม อีกทั้งยังสามารถระบุปัญหาได้อีกด้วย เช่น ศัตรูพืชและภัยแล้ง “ดาวเทียมสามารถคำนวณสิ่งนี้ได้โดยการอ่านค่าสะท้อนของพืชและดิน สุขภาพของพืชบ่งบอกได้จากคลื่นความถี่ที่สะท้อนออกมาที่ต่างกัน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการสังเคราะห์แสง” อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว
แต่ยิ่งไปกว่านั้น การให้ข้อมูลผลการวิเคราะห์ในภาคการเกษตรจาก Ricult สามารถช่วยเชื่อมต่อผู้ซื้อกับเกษตรกรได้โดยตรง (ลดช่องว่างสำหรับพ่อค้ากลาง) และเชื่อมต่อเกษตรกรกับธนาคาร ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อล่วงหน้าได้ด้วยความมั่นใจในคุณภาพและผลผลิตที่สูง ในขณะที่เกษตรกรได้รับราคาที่ดีขึ้นและสามารถขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเดียวกัน “ข้อมูลจะช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงความเสี่ยงของเกษตรกร คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือนประจำเพื่อใช้เป็นหลักประกัน ดังนั้นธนาคารจึงมักลังเลที่จะให้สินเชื่อแก่พวกเขา แต่ด้วยเทคโนโลยีของเรา ข้อมูลและการวิเคราะห์จะช่วยให้ธนาคารสามารถเห็นการคาดการณ์ของผลผลิตและรายได้ที่จะได้หลังการขาย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารเพื่อพิจารณาให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายนั้น ๆ ได้” อุกฤษยิ้ม
Ricult คือกิจการเพื่อสังคมรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนจากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation กิจการเพื่อสังคมที่คอยให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรโดยตรงในรูปแบบของการจัดเวิร์คชอปให้ความรู้ด้านเทคนิคสำหรับการเกษตรที่ยั่งยืน อุกฤษอธิบายว่า “เมื่อผ่านช่วงเก็บเกี่ยวไปแล้ว เกษตรกรจำนวนมากเลือกที่จะเผาตอซังที่เหลืออยู่ในไร่ของพวกเขา แต่เราพยายามแสดงให้พวกเขาเห็นว่า การเผาไร่นาไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเห็นได้ชัดจากปัญหามลพิษประจำปีในเชียงใหม่ แต่ยังสิ้นเปลืองอีกด้วย เราช่วยขจัดปัญหาตรงนี้ด้วยการเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติดังกล่าว และแนะนำเกษตรกรให้กับรู้จักกับบริษัทที่รับซื้อตอซังจากไร่ของพวกเขา ซึ่งจะนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด ดังนั้นชาวนาจึงสามารถสร้างรายได้จากตอซังโดยที่ก่อนหน้านี้พวกมันจะกลายไปเป็นเพียงแค่ควันไฟ” Ricult ได้ทำการช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วกว่า 100,000 รายทั่วประเทศไทยและกำลังได้รับความสนใจจากคนอีกหลายพันคน
Deepanker Khosla studied long hours on social media to learn how to grow sustainable produce
เชฟดีแพงเกอร์ คอสลา หรือ DK จาก Haoma ร้านอาหารอินเดียพื้นเมืองร่วมสมัย ก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2017 DK มักจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อมีคนพูดถึงการเนรมิตอาหารอย่างยั่งยืน แม้ว่าโปรเจกต์ที่เขาดูแลจะมีขนาดเล็กกว่า Ricult มาก แต่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน “นี่คือที่ปฏิบัติการของเรา เราทำการปลูกวัตถุดิบของเราเอง ที่ส่งตรงจากสวนหลังบ้านถึงบนช้อนทานข้าวของคุณ” เขายิ้มในขณะที่ผายมือไปยังสวนแห่งแรงบันดาลใจที่อยู่ด้านหลังของร้านอาหาร Haoma “เรายังกักเก็บน้ำฝนในถังเก็บน้ำที่นี่ เพื่อเลี้ยงปลาที่เราเสิร์ฟและสำหรับรดน้ำต้นไม้อีกด้วย ปลาของเราเจริญเติบโตจากของเสียที่ได้จากในครัว ในขณะที่มูลของปลาจะกลายเป็นปุ๋ยสำหรับสวนผักที่เราปลูก”
แม้ว่าจะเป็นสวนในเมืองที่ดูเรียบง่าย ตั้งอยู่ท้ายซอยสุขุมวิท แต่ในสวนกลางเมืองแห่งนี้สามารถผลิตผักสลัด สมุนไพร เครื่องเทศ และพืชกินได้กว่า 40 ชนิด ซึ่งทั้งหมดได้ถูกนำไปใช้ในครัวของ Haoma แต่สำหรับ DK แล้ว ความยั่งยืนมีความหมายมากกว่าการหาผู้ผลิตในชุมชนและการทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นศูนย์ มันคือการเดินทางส่วนตัวที่เขาเลือกเดินตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก “ผมมาจากครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน แม่ของผมมักจะเอาผ้าปูที่นอนเก่า ๆ ไปรีไซเคิลเป็นถุงผ้าลินิน และขวดแก้วก็ไม่เคยถูกทิ้งจากบ้านของเรา สิ่งของในบ้านอื่น ๆ อีกมากมายจะถูกพ่อและปู่ของผมนำกลับมาใช้ใหม่” เขากล่าว “ผมโตมากับสิ่งนี้ในอินเดีย ดังนั้น Haoma จึงเป็นส่วนขยายจากวิถีชีวิตนั้น”
ร้านอาหาร Haoma ถูกตั้งชื่อตามสัญลักษณ์โซโรแอสเตอร์ สัญลักษณ์แห่งพืชที่ถูกใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ได้รับการสืบทอดในแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย หลังจาก 5 ปีกับห้องอาหาร Peshawri จากโรงแรม ITC Rajputana ในเมืองชัยปุระ และ Charcoal จาก Fraser Suites ในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเขาได้พัฒนาจาก Chef de partie ไปสู่ Chef de Cuisine เขาจึงตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ นั่นคือการเดินทางทั่วเอเชียด้วยฟู้ดทรัค “มันเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสัมผัสวัฒนธรรมอาหารอื่น ๆ และในการหาแรงบันดาลใจ” เชฟกล่าว “แต่เมื่อผมสามารถเก็บเงินได้ส่วนหนึ่ง ผมและเพื่อนสนิทจึงรวบรวมทุนและเปิดร้านอาหาร Haoma จุดประสงค์หลักคือการเสนอสิ่งที่ไม่เหมือนใคร ด้วยเหตุนี้ สวนกลางเมืองจึงถือกำเนิดขึ้น เราใช้เวลาศึกษามากกว่า 10 เดือนและทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างมันขึ้นมาก่อนที่เราจะเปิดร้าน ผมค้นคว้าเทคนิควิธีการปลูกทั้งวันทั้งคืน YouTube คือห้องเรียนของผม” เขาหัวเราะ
A pre-dinner farm tour awaits guests at Haoma
จิตวิญญาณของร้านคือสวนหลังร้าน แต่ DK ยังเสาะหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตที่เขาเรียกว่าเสาหลักของ Haoma ผักปลอดสารพิษจากเชียงใหม่ สัตว์ปีกที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มแบบเปิดจากปทุมธานี ปลาที่จับได้จากภูเก็ต เนื้อสัตว์ปลอดฮอร์โมนจากเขาใหญ่ และอื่น ๆ อีกมากมาย “ท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ และในฐานะคนที่ทำงานกับสิ่งที่โลกใบนี้ผลิตขึ้นมา ผมตระหนักถึงสุขภาพของมันอย่างมาก ดูแลโลกใบนี้ให้ดีแล้วโลกใบนี้จะดูแลเรา” เขากล่าว
ผีเสื้อมักถูกพบในสวนของ Haoma และสิ่งมีชีวิตที่บอบบางนี้ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ แพร อมตา จิตตะเสนีย์ ตกหลุมรักและเป็นผู้สนับสนุนแนวหน้าของผลิตภัณฑ์ศิลปะไทยและชุมชนงานฝีมือ โดยเฉพาะผ้าไหมไทย เมคอัพอาร์ทติสชื่อดังที่ผลันตัวไปเป็นนักขับเคลื่อนทางสังคม เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมออนไลน์ในชื่อ แพรี่พาย (Pearypie) กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างมากเมื่อหลายปีก่อนจากการโพสต์วิดีโอสอนการแต่งหน้าบนโซเชียลมีเดีย มีผู้ติดตามมากถึง 400,000 คนอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเธอใช้ชื่อเสียงของเธอในการช่วยเหลือช่างฝีมือไทยและผู้หญิง ด้วยทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก ด้วยการกระทำเล็ก ๆ ในแบบของเธอ เธอหวังว่าการโปรโมทงานศิลปะผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะกระตุ้นความสนใจในวงกว้างมากขึ้น
Amata Chittasenee learns the art of silk-making
Amata walks among rows of freshly dyed raw silk
“แพรพูดตรง ๆ การเป็นบิวตี้บล็อคเกอร์ทั้งหมดนั้นมันหนักเกินไปในช่วงหลัง ๆ และไม่กี่ปีที่ผ่านมาแพรอยากเปลี่ยนไปทำอะไรที่มีผลกระทบทางสังคมมากขึ้น” แพรอธิบาย “แพรเลิกทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเป็นบิวตี้บล็อคเกอร์ และช่วงนั้นเบื่อกรุงเทพฯ แพรเลยตอบรับโอกาสเพื่อไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้น ในทริปการเดินทางไปขอนแก่นอาจารย์คนหนึ่งได้ให้ของขวัญเป็นผ้าซึ่งถูกทอขึ้นในชุมชนเล็ก ๆ ในพื้นที่ มันเป็นแรงบบันดาลใจสำหรับการผจญภัยเล็ก ๆ เพื่อค้นหาหมู่บ้านที่ทอผ้าผืนนี้ขึ้น”
ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่พวกเขาขับรถไปและหลงทางไปเรื่อย พวกเขาเห็นหญิงสาวคนหนึ่งนั่งทอผ้าไหมอยู่ “พวกเราบุกเข้าไปในบ้านของเขา แต่เขาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี” แพรหัวเราะ “เมื่อแพรอธิบายสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เขาก็พาเราไปที่บ้านอีกหลังหนึ่งและแนะนำให้เรารู้จักกับผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่จู่ ๆ ก็ดึงผ้าความยาวสองเมตร ผ้าไหมหรืออะไรสักอย่าง แพรไม่เคยเห็นมาก่อน มันมีสีเทาดำและเงาสีดำที่แปลกตา พวกเราถามว่าราคาเท่าไหร่และตกใจมากเมื่อได้ยินราคาถึง 30,000 บาท!” ราคาที่สูงนั้นเริ่มมีเหตุผลมากขึ้นเมื่อผู้หญิงคนนั้นพาพวกเธอไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน “คุณยายชี้ให้ดูว่าบ้านหลังนี้ผลิตอาหารให้หนอนไหม หลังนี้ดูแลแมลงเม่าไหม อีกหลังหนึ่งดูแลตัวอ่อนของหนอนไหม และภายในบ้านแต่ละหลังก็มีเครื่องทอผ้าไหมอยู่ด้วย หลังจากนั้นมันก็ทำให้แพรเริ่มตระหนักถึงเวลาและแรงที่พวกเขาใส่ลงไปในการผลิตผ้าผืนหนึ่ง แพรซื้อผ้าผืน 30,000 บาทผืนนั้น และสวมไปงานแฟชั่นของ Christian Dior ที่ปารีส ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก” เธอกล่าว
ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เธอออกเดินทางไปทั่วประเทศไทย เพื่อเยี่ยมชมชุมชนในชนบทและชาวเขา และบันทึกการเดินทางเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอ “แพรรู้สึกประทับใจมากกับวิธีที่ชุมชนเหล่านี้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ใส่ใจในทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาต้องพึ่งพา และไม่เอามันมาใช้มากกว่าจำนวนที่พวกเขาต้องการ พวกเขาคือตัวอย่างของการสร้างอย่างยั่งยืน และพวกเขาทำให้เรามีความสุข ตอนนี้มันกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ถ้าแพรไปเยี่ยมแม่ ๆ ช่างทอผ้า แพรจะแต่งหน้าให้พวกเขาและพวกเขาจะสอนแพรทอผ้า แพรไม่อยากให้สิ่งที่แพรทำอยู่กลายเป็นเรื่องธุรกิจ แพรแค่อยากให้คนได้เห็นอีกด้านหนึ่งของผ้าไหมไทย มันไม่ใช่แค่ผ้าที่สวยงาม แต่คือชุมชนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ความหมายของสิ่งที่แพรกำลังทำอยู่จะเกิดผลเมื่อผู้คนเริ่มให้สนใจกับผ้าไหมไทยมากขึ้น”
As CEO of WWF Thailand Natalie Phaholyothin strives to preserve and protect the wildlife and the environment
อีกหนึ่งสุภาพสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่เปรียบตัวเองดั่งแม่ธรณี นาตาลีพหลโยธิน CEO กองทุนสัตว์ป่าโลกประจำประเทศไทย (WWF) ตำแหน่งของเธอทำให้เธอเป็นกระบอกเสียงที่ทรงพลังที่จะต่อสู่เพื่อความยั่งยืนและการอนุรักษ์ “หน้าที่ของเราคือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้ ดังนั้นเราจึงทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตามปรัชญาที่ว่ามนุษย์และธรรมชาติควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล” เธอกล่าว
อดีตผู้อำนวยการสมทบของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เธอได้ย้ายไปประจำที่ WWF เมื่อต้นปี 2019 และยึดถือความเชื่อที่แนวแน่ของเธอเป็นปัจจัยหลัก “ฉันให้ความเคารพกับธรรมชาติอย่างมากและในขณะที่อยู่ประจำอยู่ที่มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ฉันรู้ว่าประเทศไทยยังต้องการความช่วยเหลืออย่างมากในแง่ของการสร้างความตระหนักให้สาธารณชนใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น โอกาสที่จะได้ทำบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้การก้าวเข้าสู่ WWF เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ”
ในประเทศไทย WWF ทำงานในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า ป่าไม้ และการกักเก็บน้ำเป็นหลัก แต่ยังสนับสนุนการเงินและการเปลี่ยนแปลงของตลาดสำหรับชุมชนในชนบทอีกด้วย “คุณรู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีหนึ่งในเสือโคร่งอินโดจีนตัวท้าย ๆ ที่เหลืออยู่ในป่า” นาตาลีถาม “ในกัมพูชา เวียดนามและลาว เสือหายไปหมดเพราะถูกล่า” หนึ่งในเป้าหมายของ WWF ประเทศไทย คือการทำให้ประชาชนตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อีกประการหนึ่งคือการทำให้แน่ใจว่าเสือได้รับการดูแลและคอยเฝ้าดูอย่างถูกต้อง การมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ โดยการรวบรวมข้อมูลผ่านการทำงานภาคสนาม WWF รวบรวมข้อมูลทางชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อช่วยศึกษาเสือในภูมิภาค
Fieldwork is a vital part of the WWF’s conservation goals
“ทำไมต้องเป็นเสือ” นาตาลีเอ่ย “พวกมันคือตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะพวกมันคือผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร หากมีเสือจำนวนมาก นั่นคือสัญญาณว่าระบบนิเวศนั้นแข็งแรงและสมบูรณ์” นี่คือเหตุผลที่ WWF ทำงานเกี่ยวกับการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงสิ่งที่จะนำมาเป็นเหยื่อเพื่อช่วยพยุงจำนวนของเสือ “น่าเศร้าที่การรุกล้ำและคุกคามเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่จะได้เห็นว่าการระบาดของ Covid-19 จะเปลี่ยนมุมมองของผู้คนในเรื่องการค้าสัตว์ป่าหรือไม่ เพราะเราทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตนี้เพราะการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย”
เธอยังกล่าวอีกว่า เราควรตระหนักว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของโรคระบาดในโลกมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ “มันคือความจริงที่ว่าระบบนิเวศของเรากำลังถูกเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ การส่งสัญญาณว่ามีการเปลี่ยนแปลงและฉันคิดว่านั่นเป็นเรื่องที่น่าห่วงจริง ๆ การรับรู้เป็นสิ่งสำคัญ และเราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรามากกว่าที่จะโทษสัตว์ป่า” เธอยอมรับว่าความยั่งยืนเกิดขึ้นจากหลายมิติ และเธอบอกว่าถ้าเราจริงจังกับเรื่องนี้เราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแลกเปลี่ยน “เรายินดีที่จะไปให้สุดหรือไม่ เช่น ธุรกิจต่าง ๆ ยินดีที่จะลงทุนเพื่อความยั่งยืนหรือไม่? ท้ายที่สุด ถ้าเราไม่มีโลกที่มีสิ่งมีชีวิตที่สุขภาพดี ก็ไม่มีธุรกิจไหนสามารถอยู่รอดได้”
Related: Meet World Wildlife Fund Thailand’s New CEO, Natalie Phaholyotin