คำว่า อินฟลูเอนเซอร์ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนเริ่มตระหนักได้ว่าการมีผู้ติดตามจำนวนมากบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นคือผู้ประสบความสำเร็จที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม การกระทำยังคงบ่งบอกได้ดีกว่าข้อความต่าง ๆ บนทวิตเตอร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่อง ‘อิทธิพล’ ของฉบับนี้ Tatlet Thailand ได้พูดคุยกับคนไทยรุ่นใหม่ทั้ง 5 ท่าน จาก 5 วงการ ที่ลงมือทำงานที่เห็นผลได้ในสาขาวิชาชีพของตน แต่ละคนต่างมีความคิดที่ทรงพลัง และพร้อมนำเราไปสู่วิธีคิดและการใช้ชีวิตแบบใหม่
ชุดารี เทพาคำ (ตาม) ผู้ชนะคนแรกจากรายการแข่งขันทำอาหารยอดนิยม Top Chef Thailand ไม่ใช่สุดยอดเชฟที่เพียงแต่ทำอาหารอร่อย แต่เธอได้รับการยอมรับจากความพิถีพิถันในการปรุงอาหารและแนวคิดเมนูอาหารที่ยั่งยืน เธอคือนักสำรวจตัวยงเมื่อพูดถึงการจัดหาวัตถุดิบแบบดั้งเดิม เธอเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เพียงแค่ตามหาอาหารและวัตถุดิบหายาก แต่เพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเติบโตและการปลูกของมันอีกด้วย ความหลงใหลและความพยายามของเธอส่งผลให้เธอเปิดร้านอาหารบ้านเทพา (Baan Tepa Culinary Space) ซึ่งมีสวนผักและสมุนไพรออร์แกนิกหายากปลูกไว้เป็นของตัวเอง “เราทำอาหารจากสิ่งที่เกษตรกรมีอยู่” บัณฑิตจาก International Culinary Center ในนิวยอร์ก และ University of Nottingham สาขาโภชนาการและวิทยาศาสตร์การอาหารกล่าว “เราไม่สามารถบังคับและเราจะไม่บังคับธรรมชาติ นี่คือข้อความที่ตามต้องการส่งต่อไปยังเชฟรุ่นต่อไป การกระทำทั้งหมดของเราล้วนส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ ความเสียหายมากมายได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปเป็นที่เรียบร้อย และเราต้องเปลี่ยนเทรนด์ เราจะต้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำอาหารและไม่กลายเป็นสาเหตุของกระบวนการที่เป็นอันตราย”
ในฐานะเชฟ 90% ของเมนูอาหารทุกจานของเธอใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นและเธอยังอธิบายถึงต้นกำเนิดของพวกมันให้กับผู้ทาน นอกจากนี้เชฟตามยังมีนโยบายห้ามมีของเหลือทิ้งขว้างอีกด้วย การให้ความรู้สามารถทำได้หลายวิธี เชฟตามกล่าวเสริมว่า เธอต้องการพัฒนาความรู้ให้กับชาวไร่ชาวนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และเพิ่มความเข้าใจเรื่องอาหารให้กับผู้ทาน “ตามหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา เพราะตามเคารพเกษตรกรที่ปลูกพืชอินทรีย์ของเราอย่างมาก เราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้ผลิตของเราและแบ่งปันความรู้ที่มีค่าเกี่ยวกับอาหารให้กับพวกเขา ท้ายที่สุด ตามอยากให้บ้านเทพาเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถมาทานและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากิน โดยสัมผัสประสบการณ์ตรงและลงมือทำจริง ๆ กับสวนของเรา มันคือวิธีที่ดีในการปล่อยวางกับสิ่งเร้าต่าง ๆ และกลับมาเชื่อมต่อกับธรรมชาติอีกครั้ง” ในเวลาว่าง เชฟตามจะคอยช่วยเหลือชุมชนทุกครั้งที่เธอสามารถทำได้ ในช่วงวิกฤติในปัจจุบัน เชฟตามและทีมของเธอก็ลงมือเตรียมอาหารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และองค์กรอื่น ๆ ที่ทำงานในสายงานนี้
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ‘วงใน’ แพลตฟอร์มรีวิวอาหารออนไลน์ชั้นนำเจ้าของรางวัลมากมายได้กลายมาเป็นที่ไว้วางใจของสหายนักกินทั่วประเทศ และกลายเป็นไกด์และกูรูในทุก ๆ เรื่องของอาหาร ด้วยภารกิจที่ว่าจะ ‘เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งดีๆ’ ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวว่า “เราได้รับการยกย่องในเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อถือจากการรีวิวของเรา และเรามีฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีมากถึง 320,000 รายการ” แค่เฉพาะระหว่างปี 2019 และ 2020 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 50% และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงใน ได้ขยายกิจการไปสู่การจัดอีเวนต์งานอาหาร บริการจัดส่งอาหาร และรีวิวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ด้านอื่น ๆ เช่น ความงามและการเดินทาง วงใน ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างมากในวงการอาหาร ในวันนี้ วงใน มีผู้เข้าชมออนไลน์กว่า 500,000 คนต่อวัน และมากกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน จากสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขนาดเล็กในวันนั้น ได้กลายมาเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มซุปเปอร์ไลฟ์สไตล์ชั้นนำของประเทศในวันนี้
ยอด นักธุรกิจที่ใส่ใจต่อสังคม สำเร็จการศึกษาจาก University of California ปัจจุบันเขากำลังมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารเพื่อรับมือกับวิกฤติ Covid-19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ “เราได้ริเริ่มโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารและพันธมิตรทางธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ หนึ่งในนั้นคือการเปิดตัวบริการจัดส่งอาหารและบริการรับอาหารสำหรับลูกค้า นอกจากนี้เรายังมีแคมเปญ Gift to Give ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อบัตรกำนัลจากร้านอาหารในราคาพิเศษและนำมาแลกใช้ได้ในภายหลัง มันช่วยให้ร้านอาหารมีเงินสดหมุนเวียน” เขาอธิบาย
ในแง่ของการส่งผลกระทบ เขากล่าวเสริมว่า “ผมหวังว่า วงใน จะเป็นตัวอย่างที่ดีว่าสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เราต้องการที่จะเป็นแอปพลิเคชั่นที่ไม่เป็นรองใคร และผมหวังว่าเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นด้วยแนวคิดที่สดใหม่สำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยสถานการณ์ในโลกตอนนี้ เราแค่หวังจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหาร มันต้องการความช่วยเหลือทั้งหมดที่จะหาได้เพราะเราต้องพึ่งพาอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี”
ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 กระเป๋า Boyy คือผลิตผลของ วรรณศิริ คงมั่น และ สามีชาวแคนาดา เจสซี่ ดอร์ซี่ บ่อยครั้งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘anti-It bag’ แห่งยุค กระเป๋าถือที่มีคุณภาพของแบรนด์นี้มีกลิ่นอายของความเก๋และความคลาสสิกที่ดึงดูดใจสาว ๆ ที่ชื่นชอบแฟชั่นทั่วโลก มีแบรนด์ไทยไม่กี่แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอย่าง Boyy แต่การเดินทางและการเติบโตของแบรนด์ที่ใช้ทุนตัวเองในการเริ่มคือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย ตัวอย่างที่ดีของการอุทิศตนและความมุ่งมั่นที่นำไปสู่ความสำเร็จ คอลเลคชั่นแรกของพวกเขาถูกจัดแสดงขึ้นที่ห้องครัวในอะพาร์ตเมนต์ของเจสซี่ในตัวเมืองนิวยอร์ก และจากมหานครนิวยอร์กสู่ประเทศไทยและตอนนี้ได้เดินทางสู่มิลาน Boyy ก็ยังคงเดินหน้าอย่างเฉิดฉายต่อไป ตัวกระเป๋าถือเน้นไปที่เอกลักษณ์เฉพาะตัวแต่ก็มีกลิ่นอายแบบแมน ๆ ร่วมสมัยเพื่อนำเสนอรูปแบบที่แปลกใหม่ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการแฟชั่น “ฉันรักแฟชั่นมาตั้งแต่จำความได้ โดยเฉพาะกระเป๋า” วรรณศิริ วัย 42 ปีกล่าว “ฉันและสามีอาศัยอยู่ในนิวยอร์กตอนที่เราเริ่มต้นพยายามดิ้นรนเพื่อทำให้มันมีความหมาย เราทั้งคู่ต่างก็มีความทะเยอทะยานอย่างมาก” ปัจจุบันกระเป๋า Boyy วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Bergdof Goodman ในนิวยอร์ก Selfridges ในลอนดอน และมีจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก “เมื่อไม่นานมานี้ เราเพิ่งได้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ในยุโรปของเราที่มิลาน ด้วยทีมงานที่มีปรากฎการณ์หลายท่าน และเรายังได้เปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า La Rinascente อีกด้วย”
กระเป๋าถือที่เห็นได้ในมือของเหล่าดารา นางแบบ และแฟชั่นนิสต้าชื่อดังทั่วโลก Boyy คือคลื่นใต้น้ำลูกใหม่ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการแฟชั่นโดยได้รับแรงหนุนจากสื่อสังคมออนไลน์ หัวใจสำคัญที่กระเป๋าถือแบรนด์นี้สามารถเข้ากับทุกคนได้คือต้องมีจรรยาบรรณ ดีไซเนอร์ชื่อดังกล่าว “จงเป็นตัวของตัวเองและเชื่อในสิ่งที่คุณทำ! แฟชั่นถูกขับเคลื่อนด้วยเทรนด์ ผู้ที่สามารถสร้างบางสิ่งที่น่าสนใจ สิ่งที่แตกต่างจากทั่วไป จะเตะตาผู้ใช้ สิ่งที่เราอยากให้คนอื่นเห็นคือความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตน ควบคู่กับความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง”
โดยส่วนใหญ่เวลาคนเราไปเที่ยว เรามักเดินทางเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มครอบครัว แต่ไม่ใช่ มิ้นท์ มณฑล กสานติกุล เธอมักออกเดินทางคนเดียวเพื่อสำรวจเส้นทางทั่วโลก เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มิ้นท์ ในวัย 25 ปี เริ่มต้นบันทึกเรื่องราวการเดินทางของเธอผ่านเฟซบุ๊กเพจ I Roam Alone แชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบฉายเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย มองโกเลีย เวเนซุเอลา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เฟซบุ๊กเพจของเธอเปรียบเสมือนประตูสู่มุมโลกที่หลาย ๆ คนอาจไม่คิดที่จะแวะไปสำรวจ บัณฑิตจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าเธอได้มีโอกาสไปเที่ยวมาแล้วกว่า 100 ประเทศ โดยทุกครั้งที่ออกเดินทาง เธอจะต้องมีโทรศัพท์มือถือ กล้อง GoPro กล้อง Canon ขนาดเล็ก และกล้อง Sony A7 ขนาดใหญ่ “มิ้นท์เริ่มทำช่อง YouTube ของตัวเองเมื่อ 2-3 ปีก่อน” นักเดินทางบอก “มีบางอย่างเกี่ยวกับการเดินทางที่มิ้นท์สนใจ มิ้นท์พยายามนำเสนอภาพของสถานที่ที่มิ้นท์ได้ไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นสถานที่ที่เข้าถึงได้ยาก นำเสนอด้วยวิธีที่สนุกและหลากหลายในขณะที่พยายามส่งผลกระทบต่อที่ที่ไปให้น้อยที่สุด”
ปัจจุบัน มิ้นท์อายุ 32 ปีและมีฐานแฟนคลับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เธอมีผู้ติดตามมากกว่า 2.7 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก เนื่องจากเนื้อหาที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยการสอดแทรกความรู้และประเด็นสังคม เช่น ผลกระทบจากการทำสงคราม ความยากจน การค้าประเวณี การค้ายาเสพติดและอื่น ๆ อีกมากมาย บ่อยครั้งที่เธอได้รับคำชมสำหรับความกล้าหาญที่ออกเดินทางคนเดียว มิ้นท์มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้หญิงไทยในการหยิบกระเป๋าเป้ออกเดินทางคนเดียวแบบไม่ง้อใคร “การที่ผู้หญิงเดินทางคนเดียวยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ก็มีคนทำมากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าคุณต้องคอยระวังและใช้ตรรกะ ไหวพริบ” เธอกล่าว “เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องศึกษาเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางและเส้นทางการเดินทาง ทั้งไปและกลับ และควรเคารพวัฒนธรรมและศาสนาท้องถิ่นอยู่เสมอ” นี่ไม่ใช่การทำให้คนอื่นเกิดอาการกลัว เธอจึงสรุปโดยกล่าวว่า “มิ้นท์หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนก้าวออกจากขอบเขตที่เราคุ้นชินและเริ่มออกเดินทาง การเดินทางที่มีความหมายคือการเรียนรู้ไปในตัวและเราทุกคนควรจะทำมัน”
ริกะ อิชิเกะ (ฉายา ตุ๊กตาตัวจิ๋ว) สาวลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เป็นดาวรุ่งมาแรงของ วัน แชมเปี้ยนชิพ ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) เธอคือนักมวยหญิง MMA คนแรกของประเทศไทย เธอได้ลงเรียนวิชาศิลปะการต่อสู้แบบผสมครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 12 ปี เพื่อเรียนปกป้องตัวเองจากการโดนเพื่อน ๆ รังแกในโรงเรียน หลังจากห่างหายไปนาน ในช่วงอายุ 20 กว่า ๆ ริกะก็ได้หันมาเล่นกีฬานี้อีกครั้งอย่างจริงจัง ครั้งแรกที่เธอต่อสู้บนเวทีมืออาชีพคือเมื่อเธอเข้าร่วมชกบนสังเวียน วัน แชมเปี้ยนชิพ ทัวร์นาเมนต์มวยกรงอันดับ 1 ของเอเชีย เธอประสบความสำเร็จในทันที ในวัย 27 ปี เธอได้รับชัยชนะกลับบ้านเป็นครั้งแรกจากการขึ้นชกในประเทศบ้านเกิดของเธอ “ฉันไม่มียกที่ชอบที่สุด แต่การขึ้นยกครั้งนั้นคือช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดสำหรับฉัน” เธอกล่าว นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เธอได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้โปรไฟล์ของเธอพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหญิงสาววัย 31 ปีเพราะเธอตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงหันมาเล่นกีฬา ไม่ใช่แค่ MMA เท่านั้น แต่เล่นกีฬาชนิดใดก็ได้เพื่อสุขภาพ เรื่องราวการเดินทางสู่สังเวียนของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่อยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการรังแก ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอยังคงต้องต่อสู้อยู่ นอกจากนี้ ริกะยังได้เข้าร่วมงานการกุศลอื่น ๆเช่น เวิร์คชอปฝึกอบรมเพื่อช่วยให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสเอาชนะความกลัว สร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา และเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวอย่างที่เธอเคยเรียน
เมื่อเราถามถึงอิทธิพลที่เธอหวังจะส่งผลกระทบในระยะยาวในวงการมวยและสังคม เธอกล่าวว่า “ฉันเริ่มต้นค่อนข้างช้า เริ่มตอนอายุ 25 ปีแล้ว แต่ฉันยังคงสามารถเป็นนักกีฬาอาชีพได้ ฉันต้องการให้ทุกคนรู้ว่าถ้าพวกเขาต้องการทำอะไรในชีวิต พวกเขาก็สามารถทำได้ เพียงแค่ต้องมีระเบียบวินัยและลงมือทำ แน่นอนว่าฉันต้องการทำให้คนหมู่มากเข้าใจว่า MMA เป็นวิธีที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถฝึกฝนเพื่อเพิ่มเพิ่มพลังบวกให้กับตัวเองได้ ผู้คนจำนวนมากไม่เข้าใจความงามของกีฬานี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับการต่อสู้เท่านั้น แม้ว่ามันจะดูโหดร้ายก็ตาม แต่มันเกี่ยวกับการเอาชนะความกลัวของคุณและเพิ่มความท้าทาย”