Som Det Theatre, Som Det district, Kalasin, Thailand (Photo: Courtesy of Philip Jablon)
หนึ่งในสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดเกี่ยวกับกรุงเทพฯ นอกเหนือจากอาหาร วัด และแหล่งชอปปิงมากมาย กรุงเทพฯยังเป็นศูนย์รวมของโรงภาพยนตร์ระดับโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เกือบทุกห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง นั่นหมายถึงห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก มีโรงภาพยนตร์ทันสมัยที่ฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์เรื่องล่าสุด อีกทั้งคุณยังสามารถอัพเกรดเป็นที่นั่งพรีเมี่ยมที่อาจมาพร้อมผ้าห่มผืนนุ่มในราคาย่อมเยาว์
ในขณะที่ราคาของความหรูหรานี้อาจจะถูกซะจนน่าขำ แต่ราคาที่แสนถูกก็ถูกแลกด้วยประวัติศาสตร์ที่ที่กำลังถูกลบเลือนไป เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้มีผู้เล่นหลักเพียงสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างที่เห็นกันอยู่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่อื่น ๆ แต่มีโรงภาพยนตร์อิสระหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและภาพยนตร์ที่พวกเขาคัดสรรค์มาเป็นอย่างดี
ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์และถวิลหาถึงยุคทองของโรงภาพยนตร์ ชายคนหนึ่งนามว่า ฟิลิป จาบลอน กำลังตามล่าหาทุกโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนที่เหลืออยู่ในภูมิภาคเพื่อพยายามเก็บข้อมูลให้พวกเขาและเพื่อรักษาไว้ซึ่งโรงภาพยนต์อิสระในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่นานมานี้ Thailand Tatler ได้นัดดื่มกาแฟกับชายหนุ่มจากเมืองฟิลาเดลเฟียผู้นี้ในกรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์และภารกิจกู้ชีพโรงภาพยนตร์อิสระทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins and The Romance of Escape” by Philip Jablon
Thailand Tatler: โปรเจกต์ของคุณ โปรเจกต์โรงภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย อะไรทำให้คุณมาที่นี่ตั้งแต่แรก?
Philip Jablon: ผมมาที่นี่เพื่อศึกษาการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยความตั้งใจที่จะทำงานให้กับหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศอย่าง UN หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เล็กกว่า เพื่อช่วยผู้คนทั่วโลก นั่นคือความคิดของผมในเวลานั้น
TT: และตอนนี้คุณกำลังพยายามช่วยโรงภาพยนตร์ทั่วโลก
PJ: ใช่ครับ
TT: ช่วยพูดถึงโปรเจกต์นี้หน่อยค่ะ อะไรคือไอเดียหลักและเป้าหมายคืออะไร?
PJ: ไอเดียหลัก ๆ คือการเก็บข้อมูลอาคารโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนเหล่านี้ในขณะที่ยังคงอยู่และนำไปสู่สายตาสาธารณะและให้เป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่นมากกว่าสิ่งอื่นใด ผมรู้ว่าเศรษฐกิจกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและผู้คนมักจะมองไปข้างหน้าและละทิ้งประวัติศาสตร์ไปอย่างง่ายดาย ดังนั้นความคิดของผมคือถ้าผู้คนเห็นโรงภาพยนตร์เหล่านี้และเริ่มให้ความสนใจกับมันมากขึ้น บางทีอาจจะมีการเคลื่อนไหวบางอย่างที่จะรักษามันไว้
Philip Jablon
TT: มีหัวข้ออื่น ๆ ให้ทำตั้งมากมาย ทำไมคุณถึงเลือกโรงภาพยนตร์?
PJ: ก็โรงภาพยนตร์มันต่างจากเรื่องอื่น ๆ ผมเติบโตใกล้ใจกลางเมืองฟิลาเดลเฟีย และตอนเด็ก ๆ เราไปดูหนังกันอยู่บ่อย ๆ มีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนทั้งตอนเหนือและตอนใต้ของตัวเมืองฟิลาเดลเฟีย มันคือส่วนหนึ่งในชีวิตผม ผมไม่ได้ใส่ใจมันเท่าไหร่ แต่เมื่อผมโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โรงภาพยนตร์เหล่านั้นก็หายไปหมด หากคุณต้องการดูหนังในตอนนี้ คุณต้องไปที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตรงชานเมือง ผมคิดว่า ‘นี่มันแย่มาก’ และไม่มีใครคิดที่จะรักษาโรงภาพยนต์แบบสแตนด์อโลนไว้เลย ในขณะเดียวกันความสนใจของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป ผมย้ายมาอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และวันหนึ่งในขณะที่ผมพยายามค้นหาตัวเองและคิดว่าผมต้องการทำอะไร ผมบังเอิญไปเจอโรงภาพยนตร์เก่าแห่งหนึ่ง
TT: ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย
PJ: ที่เชียงใหม่มีโรงภาพยนตร์สาธารณะแห่งหนึ่งชื่อ ทิพย์เนตรรามา ก่อนที่จะรู้จักโรงภาพยนตร์แห่งนี้ผมรู้จักแต่โรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผมค้นพบโรงภาพยนตร์แห่งนี้ที่คล้ายกับที่เราเคยมีในฟิลาเดลเฟียที่คอยสร้างประวัติศาสตร์ด้านความบันเทิงในท้องถิ่นที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ผมดีใจมาก ผมบอกเพื่อนผมและเราตัดสินใจว่าจะไปดูหนังที่นั่นกัน แต่เราก็ผลัดวันครั้งแล้วครั้งเล่า จนเมื่อเราตัดสินใจไปกันจริง ๆ มันก็หายไปแล้ว มันถูกทุบทิ้งไปแล้ว ผมผิดหวังมาก แต่การทุบทำลายครั้งนั้นก็ทำให้ผมสนใจโรงภาพยนตร์มากขึ้น เพื่อค้นหามันมากขึ้น
Siri Phanom Rama, Phanom Sarakam, Chachoengsao, Thailand (Photo: Courtesy of Philip Jablon)
TT: นับตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2008 คุณเก็บข้อมูลโรงภาพยนตร์มาแล้วกี่แห่ง? คุณได้นับไหม
PJ: ประมาณ 300 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ตามด้วยพม่าและลาว
TT: มีกี่แห่งในประเทศไทย?
PJ: ผมคิดว่ามากกว่า 100 แห่ง เกือบทุกตำบลเคยมีโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นและแน่นอนว่าเกือบทุกอำเภอ ทุกอำเภอเคยมีอย่างน้อย 1 หรือ 2 แห่ง หรืออาจจะ 3 แห่งใหญ่ ๆ แม้แต่ตำบลเองก็มักมีโรงภาพยนตร์เล็ก ๆ ของตัวเองที่ทำจากไม้ ผมไม่ได้ไปทุกอำเภอและทุกตำบล แต่ผมคิดว่าผมเคยไป 72 จาก 76 จังหวัดในประเทศไทย
Scala theatre (Photo: Courtesy of Philip Jablon)
TT: คุณมีโรงภาพยนตร์โปรดในดวงใจไหม?
PJ: สกาล่าครับ สกาล่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่น่าทึ่ง เป็นโรงภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว สบาย สวย และตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคและมันมีชีวิตเป็นของตัวเอง สกาล่ามีความเป็นเอกลักษณ์และได้รวมไว้ถึงสิ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์เก่า ๆ เหล่านี้ ได้แก่ ที่ตั้ง สถาปัตยกรรมและหน้าที่ทางสังคม
TT: อย่างที่คุณทราบ ลิโด้ เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่และพวกเขายังคงรักษาห้องฉายภาพยนตร์ดั้งเดิมไว้ 1 ห้อง คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น?
PJ: ผมเพิ่งไปที่นั่นมาเมื่อวันก่อน ผมชอบนะ ผมค่อนข้างประทับใจเลยทีเดียว ผมรู้สึกว่าพวกเขาทำให้มันเรียบง่าย เขาเอาแผ่นผนังเก่าทั้งหมดออกและทำใหม่ให้มันดูเก๋ ผมรู้สึกเหมือนพวกเขาสร้างมันขึ้นมาใหม่ ผมเคยได้ยินคำวิจารณ์ค่อนข้างหลากหลายจากคนอื่นก่อนที่จะไปดูด้วยตาตัวเอง ผมยังไม่ได้เข้าไปในส่วนของโรงภาพยนตร์ แต่เท่าที่ผมเห็นก็ค่อนข้างน่าประทับใจ ในส่วนของชั้นล่าง มีร้านค้าเล็ก ๆ คาเฟ่แมว รวมไปถึงสถานีวิทยุที่คุณสามารถเห็นดีเจที่กำลังสัมภาษณ์แขกรับเชิญอยู่ ส่วนชั้นบนก็มีโรงภาพยนตร์และลานกิจกรรม ผมคิดว่ามันเจ๋งจริง ๆ มันคือสิ่งที่พื้นที่เหล่านี้สามารถเป็นและควรเป็น เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม รวบรวมวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง
TT: ภาพยนตร์เรื่องใดที่ได้ดูในโรงภาพยนตร์ที่คุณจำได้เป็นอย่างดี?
PJ: หนึ่งในประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโรงภาพยนตร์คือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนที่เชียงใหม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ชื่อว่า 5 แพร่ง มันการรวมกันของภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์สยองขวัญในภาพยนตร์เบาสมองในเรื่องเดียว ผมดูที่ Vista กาดสวนแก้ว หนึ่งในเครือโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว มันเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่น่าจะมีที่นั่งประมาณ 600 ที่นั่งในแต่ละโรง ผมไปดูหนังเรื่องนี้กับแฟน ที่นั่งแทบเต็มทั้งโรง เต็มไปด้วยเด็ก ๆ จากทั่วเชียงใหม่ มันสนุกมาก ผู้คนต่างร้องกรี๊ดและสะดุ้งตลอดเรื่อง พวกเขาอินกันใหญ่และนั่นทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ร่วมกัน ใช้ช่วงเวลาที่ดีกับคนเหล่านี้
TT: มันเหมือนตอนที่ผู้ชมตบมือตอนหนังจบ ฉันเคยเจอเพียงไม่กี่ครั้งแต่มันเยี่ยมมาก เมื่อคุณดูภาพยนตร์และมีเพียงไม่กี่คนในโรงภาพยนตร์และเครดิตจบปรากฎขึ้น ผู้คนเริ่มตบมือเพราะนั่นเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เจ๋งมาก ฉันรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่คุณกำลังพูดถึง ซึ่งเป็นเหมือนที่คุณกำลังสนุกกับตัวเองในโรงภาพยนตร์
PJ: ใช่แล้ว ความสุขที่แบ่งปันกัน คุณไม่รู้จักกัน แต่คุณรู้ว่าคุณมีประสบการณ์แบบเดียวกัน ความรู้สึกนั้นมีบางอย่างที่พิเศษ
The Scala is its own physical entity, and it embodies what interests me about these old movie theatres, which is location, architecture and social function.
— Philip Jablon
The ticket taker at the Nakorn Non Rama, Nonthaburi, one of the last double feature theatres in Thailand, circa 2012. It closed in 2015 and has been demolished (Photo: Courtesy of Philip Jablon)
TT: เมื่อคุณเดินเดินทางเก็บข้อมูลโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลน คุณได้ค้นพบเรื่องราวความเป็นมา คุณมีกระบวนการอย่างไร? คุณประติดประต่อเรื่องราวเข้าด้วยกันอย่างไร?
PJ: ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการพูดคุยกับผู้คน ข้อมูล 95 เปอร์เซ็นต์ผมได้มาจากวิธีนั้น บางครั้งข้อมูลมันก็ผิด บางครั้งผมได้รับเรื่องราวที่แตกต่างกัน คุณแค่ต้องย่อยมันออกและพิจารณาว่าอะไรคือความจริง โดยปกติแล้วผมจะเดินลงจากรถประจำทางหรือรถไฟ เดินเข้าไปในเมืองและพยายามมองหาคนที่ดูเหมือนพวกเขายู่ในเมืองนี้มานาน ส่วนใหญ่แล้วคือคนที่มีอายุมากกว่าผม ผู้อาวุโส คนดูแลร้านค้าซึ่งอาจจะรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี จากนั้นผมก็เริ่มซักถามและนั่นคือกุญแจนำทาง นำผมไปสู่จุดหนึ่ง จากนั้นผมก็เริ่มออกตามหาและค้นหาไปเรื่อย ๆ จากจุดนั้น
TT: ฉันสังเกตเห็นในหนังสือของคุณว่านอกจากรูปถ่ายของโรงภาพยนตร์แล้วยังมีรูปถ่ายของต้นขั้วตั๋วและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์ คุณรวบรวมสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
PJ: ตอนผมเริ่มทำโปรเจกต์นี้ ตอนนั้นยังมีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนจำนวนมากในประเทศไทยและทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสแวะไป ผมจะซื้อตั๋วไว้เพียงเพื่อให้การสนับสนุนเล็กน้อยกับโรงภาพยนตร์เท่านั้น ผมเริ่มเก็บสะสมแต่โรงภาพยนตร์ก็ปิดตัวลงไปซะส่วนใหญ่ ดังนั้นผมจึงกำลังมองหานักสะสมและพยายามตามหาผู้อาวุโสเพื่อดูว่าพวกเขาอาจมีตั๋วเก่าที่วางอยู่รอบบ้านที่พวกเขาไม่เคยทิ้ง
Movie ticket from “Hollywood” theatre (Photo: Courtesy of Philip Jablon)
Sala Chalerm Krung ticket (Photo: Courtesy of Philip Jablon)
TT: นอกจากการแข่งกับเวลาแล้วความท้าทายอะไรที่คุณต้องเผชิญตลอดการทำโปรเจกต์ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้?
PJ: เยอะเลยครับ เริ่มจากอุปสรรคทางภาษา ในช่วงแรกภาษาไทยผมค่อนข้างแย่ ผมคิดว่ามันพัฒนาขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการทำโปรเจกต์นี้ จากการไปยังที่ ๆ ไม่มีคนพูดภาษาอังกฤษเลย นั่นคือความท้าทายที่ผมเปลี่ยนเป็นความสามารถพิเศษ ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือเจ้าของโรงภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือหรือความเห็นใจ
TT: ยังไงเหรอคะ?
PJ: สมมติว่าผมใช้เวลาเดินทางไกลไปยังโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งเพราะผมได้ยินมาว่ามันยังอยู่ เมื่อผมเดินทางไปถึงยังจุดหมายและผมติดต่อเจ้าของไป แต่พวกเขากลับไม่สนใจ ไม่ต้องการพูดคุยกับผมเลยและไม่อนุญาตให้ผมถ่ายรูปอาคารของพวกเขา มันน่าหงุดหงิดมาก บางคนแค่อยากปกป้องทรัพย์สินของพวกเขาไปหน่อย มีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำได้ดี ผมได้รับคำเชิญจากสถาปนิกท้องถิ่นจากเมืองหนึ่งให้มาลองดูโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง สถาปนิกได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโรงภาพยนตร์ให้สร้างขึ้นมาใหม่เนื่องจากถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน ดังนั้นผมจึงไปดูและได้รับการพาทัวร์แบบเต็มรูปแบบ มีเจ้าของสองคนเป็นพี่น้องกัน พี่น้องคนหนึ่งนั้นน่ารักมากเธอบอกประวัติครอบครัวของเธอทั้งหมดและเล่าถึงประวัติความเป็นมาของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ รวมถึงบอกเล่าวัตุประสงค์ว่าเธอต้องการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้อย่างไร ผมเขียนบทความเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์แห่งนั้น และหลังจากเผยแพร่บทความออกไป พี่น้องวอีกคนก็ส่งอีเมลที่น่ารังเกียจมาให้ผมและข่มขู่ผมหน่อย ๆ มันน่าเศร้าแต่บางครั้งก็เป็นความท้าทายที่คุณเผชิญ
TT: เห็นได้ชัดว่าคุณยังคงเดินทางและค้นหาโรงภาพยนตร์อยู่ จะมีหนังสือเล่มที่ 2 ออกมาให้ได้อ่านกันไหมคะ?
PJ: ผมอยากเขียนหนังสืออีกเล่ม โรงภาพยนตร์ของพม่า ผมยังไม่ได้เริ่มเขียนเลย แต่ผมมีข้อมูลพอที่จะเขียนหนังสือสักเล่ม
TT: คุณจะทำสิ่งนี้ไปอีกนานไหม?
PJ: ใช่ ผมคิดอย่างนั้น นานเท่าที่ผมจะทำได้
TT: คุณคิดว่าในท้ายที่สุดแล้วโรงภาพยนตร์อิสระจะพอมีหวังดำเนินการต่อไปไหมในโลกที่เป็นอยู่?
PJ: ความหวังมีอยู่เสมอ คุณต้องมีการผสมผสานที่ลงตัวของคนที่มีแรงบันดาลใจที่มีทรัพยากรและคนที่มีแรงบันดาลใจที่มีผู้รับฟัง ผมคิดว่าในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่มีผู้คนที่มีการศึกษาจำนวนมากและเป็นสถานที่ที่มีความเป็นสากลมาก เป็นที่ ๆ มีพื้นที่ให้กับโรงภาพยนตร์อิสระอย่างแน่นอน และมันกำลังได้รับการพิสูจน์แล้ว คุณมีสโมสร Frieze Green ห้องฉายภาพยนตร์กรุงเทพฯ ลิโด้ สกาล่าและหอภาพยนตร์ไทย พวกเขานำภาพยนตร์ซีรีส์คลาสสิกมากมายฉายให้ดูที่สกาล่า และทุกครั้งที่ผมไปก็มักมีกลุ่มคนหลายร้อยคน ดังนั้นจึงมีตลาดสำหรับสิ่งนี้อย่างแน่นอน ผมอยากเห็นมันเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีทางเลือกมากขึ้นนอกเหนือจากโรงภาพยนตร์เครือใหญ่
“Death Wish” and other classic movie posters in Philip’s book
คุณสามารถซื้อหนังสือ Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins and The Romance of Escape ของคุณฟิลิป จาบลอน ได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศหรือส่งข้อความถึงเขาโดยตรงที่ Facebook เพจ The Southeast Asian Movie Theatre Project สำหรับหนังสือพร้อมลายเซ็น