เมื่อ COVID-19 เริ่มระบาดในประเทศไทย แพทย์ นักธุรกิจ และประชาชนชาวไทยคนอื่น ๆ ที่มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ ต่างเดินหน้าทำหน้าที่ของพวกเขาในการลดการระบาดของ COVID-19 เพื่อปกป้องประเทศของพวกเรา
ฮีโร่เหล่านี้ได้ใช้พลังพิเศษเพื่อสร้างความหวังผ่านการกระทำ ความคิด และการเป็นตัวอย่าง Tatler Thailand ขอกล่าวขอบคุณทุกคนที่ออกมาปกป้องพี่น้องร่วมชาติและประเทศในช่วงเวลาที่เราทุกคนต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก นี่คือส่วนหนึ่งของฮีโร่ที่อยู่ท่ามกลางพวกเราที่คุณควรรู้จัก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
นักวิทยาการระบาด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรน่า 2019 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศไทยในด้านโรคและระบาดวิทยา ทีมของเขาพัฒนาชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยง COVID-19 เบื้องต้นจากผลเลือด ที่ให้ผลลัพธ์ภายใน 15 นาที หลังจากการทดลองมากกว่า 100 ครั้ง การทดสอบได้แสดงอัตราความแม่นยำถึง 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเข้ารับบริการตรวจได้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยต้องลงทะเบียนออนไลน์ก่อนเข้าใช้บริการ เขาอธิบายว่าชุดทดสอบ COVID-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้นำมาทดแทนการตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีมาตรฐาน แต่หวังว่าชุดทดสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาจำนวนคนไข้ที่หลั่งไหลเข้ามารับบริการตรวจที่โรงพยาบาล
สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์
นางงาม
ในฐานะที่เป็นผู้หญิง สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ ฝันที่จะเป็นนางงามเพราะเธอมองว่านี่คือบทบาทที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่น หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2018 เธอเริ่มทำงานเป็นตัวแทนขายยา และเมื่ออายุ 25 ปี เธอได้เข้าประกวดและคว้าตำแหน่ง นางสาวไทย 2019 มาครอง อีกทั้งยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทูตวัฒนธรรม ทูตการท่องเที่ยว และทูตพาณิชย์
เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สิรีธรพร้อมด้วย ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ได้ร่วมกันก่อตั้ง โครงการธนาคารหน้ากาก หนึ่งในเรื่องน่าเป็นห่วงในประเทศไทยคือหน้ากากอนามัยที่มีราคาสูงอย่างมาก
ด้วยเป้าหมายในการระดมทุน 100 ล้านบาท โครงการธนาคารหน้ากาก มุ่งหวังที่จะนำเสนอทางออกระยะยาวโดยการสร้างโรงงานเพื่อควบคุมราคาให้อยู่ที่ 2.50 บาทต่อชิ้น แคมเปญ Kickstarter ของเธอมียอดซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาทสำหรับหน้ากาก 400 ชิ้น โดยผู้ซื้อจะได้รับหน้ากากอนามัย 200 ชิ้นเพื่อการใช้งานส่วนตัวและอีกครึ่งหนึ่งจะนำไปบริจาคให้กับสถาบันทางการแพทย์หรือองค์กรที่ผู้ซื้อเลือกบริจาค โครงการธนาคารหน้ากาก ได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 20 ล้านบาทและสิรีธรหวังว่าจะสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ในไม่ช้า
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ
ศาสตราจารย์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ วัย 69 ปี ลูกคนที่ 4 จากพี่น้อง 6 คน เขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินตามรอยเท้าของพี่ชายและศึกษาภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่พี่ชายคนโตของเขาแนะนำให้เขาศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ และในที่สุด ศ.นพ.ยงก็เข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาในปี 1972 เขาศึกษาต่อในระดับอนุปริญญาสาขากุมารเวชศาสตร์และประกาศนียบัตรจากสภาการแพทย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งยังได้ทุนการวิจัยที่ Liver Sciences Department ของ King’s College Hospital Medical School ในปี 1984
หลังจากกลับมายังเมืองไทย ศ.นพ.ยงได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์และอาจารย์บรรยายที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก งานของศ.นพ.ยงได้รับความสนใจจากนานาชาติในปี 2004 จากผลงานด้านการหาลำดับพันธุกรรมและการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศไทย ซึ่งได้รับรางวัลจากกองทุนวิจัยแห่งชาติและสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อไม่นานมานี้เขาได้พูดถึงผลกระทบทางสภาพจิตใจจากความตื่นตระหนกของประชาชนในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในสาขา ศ.นพ.ยงได้ร่วมงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสภากาชาดไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ COVID-19 และวิธีรับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวันจากมาตราการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้เขายังนำทีมทดสอบการใช้พลาสมาเลือดจากผู้ป่วย COVID-19 ที่ฟื้นตัวแล้วในการหาทางรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอีกด้วย
สำหรับศ.นพ.ยง ในฐานะอาจารย์แพทย์ การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์รุ่นต่อไปคือเป้าหมายหลัก และเขากล่าวว่า เขาจะเป็นตัวอย่างที่ดี ดำเนินการสอนให้ความรู้ต่อไป ทำการวิจัย และพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะศ.นพ.ยงชี้ให้เห็นว่าโรคใหม่ ๆ คือส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่และคนรุ่นต่อไปต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับมันในอนาคต
เสกสรร รวยพิรมณ์
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ
หัวใจสำคัญของมูลนิธิสตินั้นมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือเด็กไทยที่ด้อยโอกาส เสกสรร รวยพิรมณ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ ยังให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ในขณะที่มีการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสไปทั่วโลก เขาได้ใช้อิทธิพลของเขาในการดึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรจากคนที่มีความตั้งใจเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด
ในความร่วมมือของมูลนิธิสติ มูลนิธิ Scholars of Sustenance องค์กรการกุศลที่มุ่งเน้นไปที่การรวบรวมและแจกจ่ายอาหารให้กับชุมชนที่มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส และ Urban Studies Lab ศูนย์การจัดการความรู้และข้อมูล โครงการ Covid Relief Bangkok จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โครงการที่มีการจัดระเบียบอย่างดีและโปร่งใส เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กกำพร้า ผู้ลี้ภัย และผู้ที่มีรายได้ต่ำที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ถุงบรรเทาทุกข์ของ โครงการ Covid Relief Bangkok บรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย เช่น หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือ เจลล้างมือและสบู่ รวมถึงอาหารสำเร็จรูป ข้าวสาร และปลากระป๋อง
จากการใช้ข้อมูลประชากรเพื่อระบุและค้นหาชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดในกรุงเทพฯ ตามอายุและรายได้ ถุงบรรเทาทุกข์ของ โครงการ Covid Relief Bangkok ได้ถูกส่งมอบให้แก่ผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อยในเขตนางเลิ้งแล้วกว่า 200 ราย เขตสำคัญอีก 3 เขตได้ถูกกำหนดเพื่อการส่งถุงบรรเทาทุกข์ในเดือนพฤษภาคม รวมไปถึง 13,000 ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอีก 5,500 หลัง ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานมูลนิธิแพทย์อาสา การแจกจ่ายได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมและลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัส
เสกสรร ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาจาก New York University ได้ร่วมมือกับ อลิสา นภาทิวาอำนวย จาก Social Giver องค์กรเพื่อสังคมบนโลกออนไลน์ ซึ่งตอนนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถบริจาคเงิน 300 บาทสำหรับถุงบรรเทาทุกข์โครงการ Covid Relief Bangkok สำหรับหนึ่งครัวเรือน “พลังบวกที่หลั่งไหลเข้ามาและความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมันน่าทึ่งมาก และเราเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น” เขากล่าว “ถ้าเราทุกคนร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เราก็จะสามารถผ่านมันไปได้ด้วยกัน”
ในสัปดาห์แรกของการเริ่มดำเนินการ โครงการได้รับการสนับสนุนจากจากประชาชนกว่า 1,000 คน แต่การต่อสู้ครั้งนี้ก็ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ที่ fb.com/groups/covidreliefbkk
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม
CEO แห่ง AccRevo
หนึ่งในผู้ที่ใช้ความสามารถของเขาในการประจันหน้าต่อสู้กับ COVID-19 ในประเทศไทยคือ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ในขณะที่สมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ (Thailand Tech Startup Association) มีความพร้อมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและบุคลากรที่มีทักษะเพื่อต่อสู้กับโคโรน่าไวรัส ดร.พณชิต ได้ชักชวนเพื่อนร่วมงานเพื่อจัดตั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าว่า ‘เป็ดไทยสู้ภัย’
ด้วยการคำนึงถึงเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจับคู่บุคลากรที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ นั่นหมายถึงการจับคู่คนที่อาจติดเชื้อกับแพทย์ที่พวกเขาต้องการ
หนึ่งในโครงการแรกของ เป็ดไทยสู้ภัย คือการสร้างเว็บไซต์เพื่อเสนอข่าวและข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยการใช้ระบบคัดกรองผู้ป่วยออนไลน์ ผู้คนสามารถป้อนรายละเอียดของอาการของพวกเขาเพื่อประเมินความเสี่ยงที่แตกต่างกันเป็น 3 ระดับ โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยังแพทย์และโรงพยาบาลซึ่งทำให้แพทย์สามารถวินัยฉัยอาการเบื้องต้นก่อนที่คนไข้จะเข้าพบแพทย์ได้
ผลงานล่าสุดของ เป็ดไทยสู้ภัย ได้แก่แอปพลิเคชันที่เรียกว่า ‘เป็ดคีพเปอร์’ (PedKeeper) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคัดกรองโดยการวัดอุณหภูมิ ให้รู้ว่าบุคคลนี้เป็นผู้มีความเสี่ยงติดหรือแพร่เชื้อโคโรน่าไวรัสมากน้อยเพียงใด โดยใช้ข้อมูลจากการเดินทางระหว่างประเทศที่จัดทำโดยกรมควบคุมโรค
สำหรับความเชี่ยวชาญของเขาในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ดร.พณชิตเป็นที่รู้จักในนามเจ้าของรางวัล National Start-up Leadership of the year จากปี 2016
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมและปริญญาโทด้านการประมวลผลสัญญาณดิจิทัล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้เขายังคว้าปริญญาเอกสาขา Imaging science and biomedical engineering จาก University of Manchester อีกด้วย
ดร.พณชิตเริ่มต้นสายอาชีพของเขาในฐานะนักวิจัยของสถาบัน A*Star institute ในสิงคโปร์ ซึ่งเขาใช้เวลา 6 ปีก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมของทรู คอร์ปอเรชั่น ในปี 2014 นอกจากนี้เขายังช่วยรัฐบาลไทยในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและหุ้นส่วนของ AccRevo แพลตฟอร์มบริการด้านบัญชี ก่อนที่จะอุทิศตนให้กับการดำรงตำแหน่งประธานสมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ ในปี 2019 อีกทั้งเขาได้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Ztrus ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มการทำบัญชีที่ใช้ AI อีกด้วย